วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นจากเสียงเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นจากเสียงเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ 
โดย ผู้จัดการรายวัน 18 สิงหาคม 2551

 

พ.ศ.2551 เป็นการครบรอบปีที่ 50 ของการถือกำเนิดของสัญลักษณ์สันติภาพ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อ ปี พ.ศ.2501 ถูกออกแบบโดย เจอรัลด์ โฮลทัม ศิลปินที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามมาโดยตลอด ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในความหมายที่สื่อถึงการเรียกร้องสันติภาพและการต่อสู้ในแนวทางอหิงสา 



ถึงแม้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสัญลักษณ์สันติภาพจะมีส่วนช่วยเกี่ยวร้อยดวงใจผู้คนนับแสนนับล้านดวงให้โน้มน้าวเข้าหากัน ลดมานะทิฐิ และถอยหลังคนละก้าวเพื่อแสวงหาคำตอบของการขัดแย้งโดยสันติวิธี แต่อย่างไรก็ดีถึงวันนี้...ไม่ว่าจะมีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสันติภาพออกมาอีกกี่แบบ หรือบทกวีเพื่อสันติภาพจะถูกเขียนขึ้นมาอีกกี่ล้านบทก็ตาม สงครามในโลกนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป 

สภาวะแห่งความสันติ สถานะแห่งความเงียบหรือความสุข ความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความเคารพ ความยุติธรรม และความหวังดีแท้จริงแล้วอยู่ตรงไหน ความเข้าใจในสันติภาพจริงๆ นั้นคืออะไร เหล่านี้เป็นคำถาม และความปรารถนาของวัยรุ่นกลุ่มเล็กๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า Peace แปลว่า สันติภาพ แต่พวกเขาไม่สามารถนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ ได้ เพราะพวกเขาต่างรู้สึกว่าความสงบสุขของบ้านเมือง เวลานี้เริ่มสั่นคลอนไปทุกทีๆ... 


น้องๆ ทุกกลุ่มที่ร่วมกันจัดงานนี้ได้มายืนร่วมกันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ


One World One Dream We want Peace 

ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ร้อนระอุ เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ ความขัดแย้งที่เกิดในสังคมไทยบ้านเรา เริ่มแผ่กระจายทำให้ความสงบสุขของบ้านเมืองเริ่มสั่นคลอน ยังมีเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งมีความตั้งใจและมีความปรารถนาที่อยากจะเห็นคำว่า Peace หรือ สันติภาพ ในสังคมบ้านเรามากขึ้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนปทุมคงคาจึงได้จัดนิทรรศการ “One World One Dream We want Peace” เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบถึงเจตนารมย์ของพวกเขาในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ 

“เรามีการจัดกิจกรรมในเรื่องของประเด็นสังคมทุกปี โดยมีเด็กนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นผู้จัดการทั้งหมด ตั้งแต่การคิดริเริ่มหัวข้อของกิจกรรม ซึ่งเป็นหัวข้อที่พวกเขาสนใจเอง โดยจะเน้นไปในเรื่องของประเด็นทางสังคม ในครั้งนี้เด็กๆ ได้จัดกิจกรรมในเชิงนิทรรศการที่ใช้ชื่อว่า One World One Dream We want Peace คือการนำสันติภาพมาแก้ไขปัญหาในเรื่องของความขัดแย้งที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เช่น การพาดหัวข่าวในเรื่องของความไม่สงบจากสามจังหวัดชายแดนทางภาคใต้ ตอนนี้กรุงเทพฯ ก็มีปัญหาในเรื่องของความขัดแย้งเช่นเดียวกัน เราเชื่อมั่นว่า ปัญหาทุกปัญหาของสังคมมีทางแก้ไข เพียงแต่เราหันมาพูดกันโดยใช้เหตุผล สันติภาพก็จะเกิดขึ้น ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงแค่มุมมองของเด็กกลุ่มหนึ่ง แต่พวกเขาก็มีความตั้งใจและมีวัตถุประสงค์เดียวกันที่อยากจะเห็นความสามัคคี การช่วยเหลือกันและกัน ผู้ใหญ่อย่างเราจึงควรอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้เขาได้มีความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมได้” คุณครูเพลินพิศ ฉายจรรยา จากโรงเรียนปทุมคงคา ภาควิชาภาษาต่างประเทศ ได้เล่าถึงที่มาของโครงการในครั้งนี้ 

รัฐกร แท่นบุพผา นักเรียนจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่รวบรวมเรื่องราวความรุนแรงในสังคมต่าง ๆ มานำเสนอในส่วนของนิทรรศการ กล่าวว่า 

“เรารู้อยู่แล้วว่า peace แปลว่า สันติภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่า เรารู้ความหมายแล้วอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร แล้วสันติภาพจะเกิดขึ้นเอง แต่หมายถึง การที่เรามีส่วนร่วมไปด้วย สิ่งที่ได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ ภาพของความขัดแย้งมีให้เราได้เห็นทุกวัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านั้นลดลง เช่น การที่เราไม่ไปดูถูกคนอื่นที่ด้อยกว่าเรา หรือยากจนกว่าเรา ในทางกลับกัน เราควรจะต้องให้ความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้เสียอีก ที่สำคัญ เราร้องเพลงชาติกันทุกวัน เราน่าจะเอาความหมายของเพลงมาเป็นเครื่องเตือนใจเราได้บ้าง” 

แม้รัฐกรอาจจะมองเห็นภาพจากสิ่งที่เขาอ่านและเห็นตามหน้าจอโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความขัดแย้งจากประสบการณ์จริง และภาพที่ได้เห็นเป็นฝันร้ายที่ลืมไม่ลง สำหรับ 

อัสมัน โต๊ะเก๊ะ นักเรียนจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เล่าให้ฟังว่า 

“ผมมาจากจังหวัดนราธิวาส หนึ่งในสามจังหวัดที่มีเหตุขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และยังไม่ทราบว่าจะลงเอยแบบไหน ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงจากจังหวัดนราธิวาสได้ส่งผลกระทบต่อตัวผมเองอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องเรียน เราต้องรีบเรียนให้ตรงตามเวลา คุณครูเองก็ต้องรีบสอน เราไม่สามารถที่จะนั่งเล่นกับเพื่อนๆ หรือถามเรื่องการเรียนกับครูหลังจากเลิกเรียน ต่างคนก็ต่างต้องรีบกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย บางครั้งถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่นการวางระเบิด โรงเรียนก็ต้องปิดเรียนชั่วคราวจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ ครูและนักเรียนก็ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เราต้องอ่านหนังสือเอาเอง การเดินทางไปกลับแต่ละครั้งก็อันตราย ผมกำลังอยู่ในช่วงที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนี้ผมไม่แน่ใจเลยครับว่า ผมจะสามารถสอบผ่านหรือเปล่า เพราะไม่มีเวลาเรียนหนังสือเหมือนคนอื่นๆ” 

สันติภาพและมิตรภาพจากครอบครัวอุปถัมภ์ 

โครงการครอบครัวอุปถัมภ์นักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐบาลไทยได้คิดริเริ่ม โดยการนำเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเรียนในกรุงเทพฯ ในระยะ 1 ปี เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ความแตกต่างด้านศาสนาและวัฒนธรรม อัสมันเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้รับโอกาสนั้น 

“ผมถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากสำหรับผม เพราะทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนหนังสือให้ทันเพื่อนๆ การเรียนผมดีขึ้น จนถึงเดี๋ยวนี้เพื่อนๆ ของผมบางคนที่ยังอยู่ที่นราธิวาสก็ยังไม่ได้เรียนหนังสือก็มี 

“ผมเคยได้โทรกลับไปที่บ้าน แล้วก็ลองถามน้องๆ ที่บ้านว่าเป็นอย่างไรบ้าง น้องของผมก็ตอบว่าบางทีพวกเขาก็ต้องกลับบ้านกันค่ำมืด เนื่องจากมีบางกลุ่มที่นำท่อนไม้มาขวางการเดินทาง หรือบางครั้งน้องๆ ก็บอกว่า พวกเขาต้องวนรถอ้อมไปอีกทางที่ไกลกว่า เพราะเส้นทางประจำของพวกเขาบางครั้งก็มีการวางระเบิดกัน ผมก็ได้แต่เป็นกังวลว่าครอบครัวผมจะเป็นอะไรไปไหม เสียดายเหมือนกันที่น้องผมไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะทางโครงการจำกัดผู้ร่วม ได้เพียงแค่หนึ่งคนต่อหนึ่งครอบครัวเท่านั้น พอผมขึ้นมาที่กรุงเทพฯ ได้เพียงสักพัก ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก เพียงแต่มันยังไม่รุนแรงเท่าที่ใต้แค่นั้นเอง 

“การจัดงานในครั้งนี้ ผมหวังว่าอย่างน้อยก็เป็นเสียงอีกส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นเสียงเล็กๆ แต่เป็นเสียงที่ดังจากคนตัวเล็กๆ อย่างผมกับเพื่อนที่อยากให้หลายๆ คนได้รับรู้ ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดผมมันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย” อัสมันเล่าให้ฟัง พร้อมกับถ่ายทอดความรู้สึกที่ตนเองได้รับ 

สันติภาพอย่างสร้างสรรค์ 

ความน่าสนใจของงาน One World One Dream We want Peace ในครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่ความคิดและมุมมองของนักเรียนในการนำเสนอประเด็นสันติภาพในความเข้าใจของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ มีการบอกเล่าเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่ใช้ความไม่รุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น มหาตมะ คานธี หรือ อองซาน ซูจี มีการจัดบอร์ดเปล่าเพื่อให้คุณครูและรุ่นน้องได้ขีดเขียนความหมายของคำว่า “สันติภาพ” ได้อย่างเสรี นักเรียนเหล่านี้ต่างเชื่อว่าการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนกว่าถือเป็นการพยายามสร้างความสุขในสังคมอีกวิธีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดซุ้มนวดในลักษณะแผนโบราณและเล่นเกมจากเด็กนักเรียน โดยผู้ที่เข้าซุ้มนี้ก็สามารถบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนต่อให้กับมูลนิธิอื่นๆ 

ในส่วนของกิจกรรมบนเวที มีการตัดต่อมิวสิควีดีโอโดยนำเพลงที่มีความหมายดีๆอย่างเพลง where is the love หรือเพลง heal the world มานำเสนอในสไตล์วัยรุ่น มีการร้องเพลง imagine ของ จอห์น เลนนอน ร่วมกัน หนึ่งในกิจกรรมบนเวทีที่น่าสนใจและเรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนๆ และผู้เข้าชม คือกิจกรรมที่อัสมันและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันจัดคือ การนำการแสดงท้องถิ่นจากบ้านเกิดเขาที่เรียกว่า บาติเก ฮุนดู ซึ่งเป็นเพลงสำหรับงานรื่นเริง หรืองานมงคลจากทางภาคใต้ มาผสมผสานกับเพลงร่วมสมัยกับทางภาคกลาง เปรียบเสมือนการนำสิ่งสองสิ่งที่มีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบ วัฒนธรรมและภาษา มาเชื่อมโยงร้อยกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่สังคมไหน ๆ มีความแตกต่างกันเพียงใด เพียงแต่ถ้ามีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็สามารถที่จะหาจุดยืนร่วมกันได้ 



Global Action Schools 

นอกเหนือจากกิจกรรมจากทางโรงเรียนปทุมคงคาแล้ว ยังมีกิจกรรมชักชวนให้น้องๆ เขียนโปสการ์ดเป็นกำลังใจให้กับผู้คนที่เผชิญกับความไม่สงบในประเทศอื่นๆ อีกด้วย โดยมีโครงการ Global Action Schools ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยที่ได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของครูและโรงเรียนที่จะช่วยให้เด็กเยาวชนในชั้นเรียนได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาประเด็นทางสังคม 

ศักดิ์สินี เอมะศิริ เจ้าหน้าที่โครงการ Global Action School ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการนี้ตามคำชักชวนของคุณครูและรัฐกรในฐานะที่ปรึกษา ได้กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า 

“น้องๆ กลุ่มนี้ ได้เข้าร่วมโครงการของเรา ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราได้เห็นศักยภาพของพวกเขาในการช่วยเหลือสังคมได้ แล้วประเด็นเรื่องสันติภาพนี้ ก็เป็นประเด็นทางสังคม อยากให้ทุกคนได้มองเห็นปัญหา แล้วเราเข้าไปช่วยแก้ปัญหานั้นเพื่อให้สังคมดีขึ้น โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้วิธีที่เราคุยกันหรือว่าใช้วิธีที่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเสมอภาคกัน จริงๆแล้ว รอบตัวเรามีประเด็นปัญหาในเรื่องสังคมทุกด้าน เพียงแต่เราจะมองหาวิธีใดที่จะให้ความขัดแย้งนั้นลดลง หรือมีให้น้อยที่สุด” 

นอกจากนี้ทางโครงการ Global Action Schools ยังเปิดพื้นที่ให้คุณครูและนักเรียนได้แสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นต่อประเด็นความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย เช่น “ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยเหตุผลและความเข้าใจกัน” “สันติภาพมีอยู่ในทุกคนที่ต้องการให้โลกสงบสุข” “หยุดสร้างปัญหา หยุดการแบ่งแยก พวกเราคนไทยเหมือนกัน” “เถียงกันด้วยเหตุผลดีกว่าใช้อารมณ์” ถ้อยคำเหล่านี้ สะท้อนให้ทุกคนได้เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ด้วยถ้อยคำที่จริงใจและไม่รุนแรง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างให้สันติภาพเกิดขึ้นได้จริง เยาวชนรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคม และต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะถูกกันให้เป็นคนนอกเพียงเพราะได้ชื่อว่าเป็นเด็ก 

สำหรับโครงการ Global Action Schools นั้น เป็นโครงการที่สนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม รู้จักวิเคราะห์ ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และเชื่อมโยงตนเองกับสังคมและโลกได้ ซึ่งมีโรงเรียนต่างๆ แสดงความสนใจและได้เข้าร่วมแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งทางโรงเรียนปทุมคงคา ก็เป็นโรงเรียนนำร่องในโครงการครั้งนี้ด้วย 
งาน One World One Dream We want Peace จบลงโดยที่น้องๆ ทุกกลุ่มที่ร่วมกันจัดงานนี้ได้มายืนร่วมกันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ เพื่อบอกต่อความคิดดีๆ ที่เป็นสากลให้กับสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป 

แม้เสียงหนึ่งเสียง อาจไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งนั้นลดลงหรือเปลี่ยนแปลง ได้แค่เพียงหนึ่งชั่วยาม หรือหนึ่งค่ำคืน แต่ถ้าเสียงเล็กๆ รวมกันเป็นหลายเสียงแล้ว ก็คงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดังพอให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนได้ยินกับคำว่าสันติภาพแน่ๆ 

*************

1 ความคิดเห็น :

  1. แชร์ความคิดเห็นของท่านให้สังคมโลกรับรู้ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ