วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันสันติภาพไทย


วันสันติภาพไทย
ที่มา tkpark.or.th
 


พิราบขาว...สัญลักษณ์ของสันติภาพ
 
        มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2538 กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสันติภาพไทย"...วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย เป็นการระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยได้รับผลกระทบในสงครามครั้งนี้ด้วย หลายคนคงอยากจะรู้แล้วสิว่า เรื่องราวของ “วันสันติภาพไทย” มีความเป็นมาอย่างไรดังนั้น ฉันจึงขอนำเรื่องเก่า (แต่ยังเก๋าอยู่) มาเล่าใหม่ เพื่อไม่ให้วันสำคัญเช่นวันนี้ผ่านเลยไปในแต่ละปีอย่างไร้ความหมาย อีกทั้งเยาวชนรุ่นหลังจะได้รับรู้ รับทราบถึงวีรกรรม ความรู้รักสามัคคีและเสียสละของประชาชนคนไทยในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย เรื่องมีอยู่ว่า...

 
สงครามโลกครั้งที่ 2

เป็นความขัดแย้งในวงกว้างที่ครอบคลุมทุกทวีปและประเทศส่วนใหญ่ในโลก ความขัดแย้งนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ภูมิภาคของทวีป คือ ทวีปเอเชีย และ ทวีปยุโรป ผู้เข้าร่วมสงครามแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบไปด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ส่วนอีกฝ่ายคือ ฝ่ายอักษะ นำโดย เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น... สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจากผลสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิเยอรมันซึ่งขณะนั้นเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มาก แพ้สงครามเลยถูกบังคับให้เซ็นสัญญาฉบับหนึ่งที่เรียกว่า สนธิสัญญาแวร์ซาย ผลของสัญญาทำให้จักรวรรดิเยอรมันล่มสลาย และกลายมาเป็น “สาธารณรัฐไวมาร์” ในที่สุด...ผลสืบเนื่องจากการทำสัญญา เยอรมันเลยต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ถูกจำกัดกองกำลังทหารและการขยายอาณาเขต เยอรมันภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้จะไม่ถึงกับสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินก็ตาม บางแห่งประชาชนถึงกับพากันบุกพังร้านค้าเพื่อแย่งอาหาร ความอดอยากยากแค้นมีให้เห็นอยู่ทั่วไป เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นภายในประเทศ เศรษฐกิจทรุดหนักที่สุด ประชาชนอยู่อย่างสิ้นหวัง... และรอคอย... เดือนมกราคม ค.ศ. 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคสังคมนิยมชาตินิยมกรรมกรเยอรมัน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศเยอรมนีและเริ่มเสริมสร้างกำลังทางทหารของประเทศอีกครั้ง สร้างความกังวลให้แก่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความสูญเสียจากสงครามครั้งที่แล้วเป็นอย่างมาก และความกังวลนั้นก็เป็นจริง ฮิตเลอร์ ปฏิเสธที่จะทำตามสนธิสัญญาแวร์ซาย และสัญญาทุกฉบับที่ถูกบังคับให้ทำในทุก ๆ กรณี จากนั้นไม่นานสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้น...
           


ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2

       เรื่องราวต่อเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2482 เมื่อเยอรมันที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ยาตราทัพบุกโปแลนด์และอีกหลายประเทศในยุโรป และสถานการณ์ทางเอเชีย ญี่ปุ่นเริ่มใช้นโยบายชาตินิยมและก่อสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นที่จีนและเกาหลี “ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคมพ.ศ. 2483 เมื่อคณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งประชาชนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาล ให้เรียกเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เช่น เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์ เป็นต้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ส่งทหารข้ามพรมแดนเข้าไปยึดดินแดนคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้นได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น…เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างทหารไทยกับทหารฝรั่งเศส ในบางช่วงทหารไทยสามารถจับทหาร (Wikipedia : ยุทธนาวีเกาะช้าง)เหตุการณ์ได้จบลงโดยที่ฝรั่งเศสได้มอบดินแดนบางส่วนคืนให้แก่ไทย...โมร็อกโกซึ่งเป็นทหารประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสมาได้ และได้นำเชลยศึกเหล่านั้นมาแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ดูที่สวนสัตว์เขาดินวนา โดยการต่อสู้ที่เป็นที่กล่าวขานมากที่สุดคือ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง จ.ตราด เมื่อเรือหลวงธนบุรีของกองทัพเรือไทยได้เข้าต่อสู้กับเรือรบลามอตต์ปิเกต์ของฝรั่งเศสเรือหลวงธนบุรีเสียเปรียบเรือรบลามอตต์ปิเกต์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือกำลังพลที่สุดเรือหลวงธนบุรีโดยการบังคับบัญชาของ นาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์ ก็ได้ถูกยิงจมลง นายทหารบนเรือเสียชีวิตรวม 36 นาย รวมทั้งตัวหลวงพร้อมวีระพันธ์เองด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างความเสียหายให้แก่เรือรบลามอตต์ปิเกต์ จนฝ่ายฝรั่งเศสไม่กล้าส่งเรือรบมาลาดตระเวนในน่านน้ำอ่าวไทยอีกเลย เหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่ายุทธนาวีเกาะช้าง การต่อสู้ยังคงดำเนินไปถึงกลางปี พ.ศ. 2484 ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ ทางญี่ปุ่นแสดงเจตจำนงเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
           


ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย      

        หลังการเข้ามามีบทบาทของญี่ปุ่นในเหตุการณ์นี้ เป็นที่คาดหมายว่า ญี่ปุ่นจะยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทยแน่ในอนาคต รัฐบาลไทยโดย จอมพล ป. ได้รณรงค์ให้ประชาชนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ และการเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับต้น ๆ อย่างเข้มแข็ง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่นการออกพระราชบัญญัติสงวนอาชีพบางประเภท ที่ส่วนมากเป็นงานฝีมือ เฉพาะแก่คนไทย เป็นต้น และคำขวัญในครั้งนี้ก็ได้แก่ งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข บรรยากาศโดยทั่วไปทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ประชาชนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ในเหตุการณ์สงครามที่อาจเกิดขึ้นในเวลาใกล้นี้ เพลงปลุกใจจำนวนมากได้ถูกเปิดขึ้นโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยในครั้งนี้ส่วนมากจะเป็นเพลงมาร์ช ของเหล่าทัพต่าง ๆ...ในช่วงเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่อย ๆ ขยายวงกว้างขึ้นในทวีปเอเชีย เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮ่องกงและเมืองโคตาบารูทางเหนือของมาลายูอย่างรุนแรงและฉับพลัน ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยมิได้ประกาศสงครามล่วงหน้าก่อน อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันนั้น สงครามมหาเอเชียบูรพา (The Greater East-Asia War) จึงได้อุบัติขึ้น และในวันเดียวกันนั้นเองญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่ได้มีท่าทีตอบสนองต่อข้อเสนอของทางญี่ปุ่น ภายหลังการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์เพียงหนึ่งชั่วโมง กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ส่งกองกำลังบุกเข้าประเทศไทยทางชายแดนด้านภาคตะวันออก และยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและตำบลบางปู สมุทรปราการ... แม้ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นจะไม่มีท่าทีตอบสนองต่อข้อเสนอต่อกองทัพญี่ปุ่น แต่รัฐบาลก็ได้เลือกที่จะทำการประนีประนอมแบบไม่เสียเลือดเนื้อ โดยตกลงยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศแต่เพียงอย่างเดียวอย่างไรก็ดี ด้วยเหตุการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ตึงเครียดยิ่งขึ้น รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.  2485 ก็ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกาจึงเท่ากับว่าเข้าร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายอักษะและเป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายพันธมิตรอย่างเต็มตัว
 


เสรีไทย ขบวนการประชาชน

            การที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยินยอมตกลงเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทำให้บุคคลสำคัญทางการเมืองการปกครอง ข้าราชการ และชาวไทยทั้งในและนอกประเทศไม่เห็นด้วยกับนโยบายประกาศสงคราม มีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น คนไทยในประเทศนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง กลุ่มที่สอง คนไทยในสหรัฐอเมริกานำโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และถือว่าการประกาศสงครามนั้นมิใช่เจตนาของคนไทย กลุ่มที่สาม กลุ่มคนไทยในอังกฤษ นำโดยนักเรียนไทย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง

ขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) เป็นขบวนการใต้ดินที่ดำเนินการระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วง พ.ศ. 2484 - 2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ขบวนการเสรีไทยกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกและยกพลขึ้นบกจากอ่าวไทย เดิมเรียกขบวนการนี้ว่า "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ภายหลังจึงเปลี่ยนไป "เสรีไทย" มีบทบาทเป็นแหล่งข่าวสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร

            นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร และโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือ มาฝึกให้เป็นผู้บังคับบัญชาของกองกำลังใต้ดินเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนด มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ส่งข่าวด้านยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนรายงานสภาพดินฟ้าอากาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แม้ว่าไทยจะร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงคราม แต่ความร่วมมืออย่างลับ ๆ ของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ โดยสหรัฐอเมริกาถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากญี่ปุ่นโดนทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูก ไทยได้ตัดสินใจประกาศสันติภาพ และประกาศโมฆกรรมแห่งการประกาศสงครามต่อฝ่ายพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488


 
64 ปีวันสันติภาพไทย

            ตามความจริงแล้วหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนน ไทยก็น่าจะตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ด้วย แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม ก็คือ การตัดสินใจประกาศสันติภาพ และประกาศโมฆกรรม แห่งการประกาศสงครามต่อฝ่ายพันธมิตร...

          “คำประกาศสันติภาพ” ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีดังต่อไปนี้

          "...โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก

เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนง ของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติ ผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว

บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต   ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือ รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริส เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมืองบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่น ๆ ใดอันมีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิ ก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใด ๆ จากกฎหมายเหล่านั้นก็จะได้รับชดใช้โดยชอบธรรม..." (http://thainews.prd.go.th/Misc/peaceday/blog/inde_.html)

เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี วันสันติภาพไทย ถือเป็นโอกาสอันดีที่คนรุ่นหลังอย่างพวกเราจะได้มีโอกาสทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศชาติและสังคมไทย ที่คนรุ่นก่อนได้ใช้สติปัญญาความสามารถในการแก้ไขปัญหา มากกว่าที่จะใช้กำลังเข้าประหัตประหาร...ความเสียสละ ความสามัคคีของขบวนการเสรีไทย ที่ได้ร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และมีเกียรติสันติภาพจึงไม่ใช่ได้มาด้วยการเรียกร้องที่จะได้รับ แต่อยู่ที่การเสียสละเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ดังนั้น ในวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี จึงเป็นวันที่ระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศสันติภาพ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์ซึ่งเป็นถนนเส้นที่ผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหา อีกด้วย

            "...สันติภาพ มิได้หมายความถึงการสงบนิ่งไม่กระทำการใด ๆ เลย หากเป็นปฏิบัติการแห่งความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ภารกิจเพื่อสันติภาพจึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้ มิใช่ด้วยการเรียกร้องที่จะได้รับ หากอยู่ที่การลงมือเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน…" (พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในงาน ๕๐ ปี วันสันติภาพไทย วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๘)
 

 
*ข้อมูลอ้างอิง
 
http://th.wikipedia.org คำค้น “สงครามโลกครั้งที่ 2”
 http://th. panyathai.or.th 
http://thainews.prd.go.th/Misc/peaceday/blog/inde_.html
 
สันติสุข โสภณสิริ. (2538). สู่ศานติ: 50 ปี สันติภาพไทย 6 สิงหาคม 2488-2538. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการวันสันติภาพไทย.
 
สันติสุข โสภณสิริ. (2548). 60 ปีวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2548. กรุงเทพฯ: ฝ่ายจัดกิจกรรมทางวิชาการและจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินการจัดงานฉลอง 60 ปี วันสันติภาพไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์และคณะ. (2546). เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย . กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์.

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น