สัมมาอาชีพ


คอลัมน์ “คนต้นแบบ” / หน้า 9-11 / นิตยสารสัมมาชีพออนไลน์ / ฉบับที่ 1-15 มิ.ย.2555

ชัยพร พรหมพันธุ์ 

ชาวนาเงินล้าน

chia1
          
       "ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก" 
ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาโดยสายเลือดแห่งทุ่งบางปลาม้า สุพรรณบุรี ยืนยันด้วยน้ำเสียงท้องถิ่นเหน่อๆ แต่หนักแน่น
    ชัยพร จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6           จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน                     ปัจจุบันอายุ 51 ปี ยึดอาชีพทำนาสืบต่อ             จากรุ่นพ่อ จนสามารถยกฐานะจากชาวนายากจน เป็น “ชาวนารวย” ระดับเศรษฐีเงินล้าน กระทั่งได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมทั้งถูกคัดเลือกให้เป็น “เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา” เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จของชีวิต


        
     คนทำนาผิวดำเกรียมอย่างชัยพรมีชีวิตแตกต่างไปจากชาวนาทั่วไป ความสำเร็จจากอาชีพคนปลูกข้าวที่มีรายได้นับล้านบาทต่อฤดูการผลิตนั้น ทำให้เขาสามารถตั้งเงินเดือนให้ตัวเองและเมียคนละ60,000 บาท พร้อมทั้งส่งเสียลูกชาย 1 คนกับลูกสาว 2 คน เรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งหมด
chia6
          ไม่เพียงเท่านั้น ชัยพรกับครอบครัวยังมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข มีหลักประกันสุขภาพชั้นดีจากการส่งประกันชีวิตประกันสุขภาพระดับ A เดือนละร่วมแสน สิ่งสำคัญเขาไม่มีหนี้สิน ไม่กู้เงินธนาคาร ไม่เป็นลูกค้าขี้ข้าใคร ทุกสิ่งที่ต้องการเขาซื้อด้วยเงินสด ร่วมทั้งซื้อที่นารอบข้างด้วยเงินสดเพื่อขยายการทำนาจากที่ดินมรดก 20 ไร่เศษมาเป็น 100 กว่าไร่ในวันนี้
          ชีวิตคนปลูกข้าวของชัยพรเป็นไปตามธรรมชาติแบบชาวนาเดิมๆที่ใช้สารเคมีเร่งผลผลิต เขาเริ่มทำนาเมื่อปี 2525 เมื่อถึงช่วงเกี่ยวเก็บที่นา 20 ไร่ได้ข้าวเพียง 13 เกวียน ผลการบากบั่น หลังขดหลังแข็งมาทั้งปี กลับได้บทสรุปชีวิตชาวนาทั่วๆไป คือ ยิ่งทำก็ยิ่งจนลง จนแทบเสียนา แล้วมาขายแรงงานรับจ้างในเมืองกรุงเป็นรายได้เสริมยังชีพเลี้ยงครอบครัว
         "ผมล้มมาเยอะเหมือนกัน" ชัยพร บอกด้วยชุ่มเสียงท้องถิ่นคนสุพรรณบุรี ผู้เพียรพยายามหาหนทางตั้งตัว เขาเคยล้มเหลวกับนากุ้งและสวนผลไม้คละชนิด เพราะสู้น้ำไม่ไหว จึงย้อนกลับมาเป็นชาวนาตามรอยพ่อ         
         "ทำนาเคมีมา 20 กว่าไร่ ได้ข้าว 13 เกวียน จำได้แม่นเลย ขายได้เกวียนละ 2,000 บาท ขาดทุนยับ เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คิดว่าจะได้เบิกเงินค่าเรียนลูก เพราะมองอนาคตแล้วว่าไม่มีปัญญาส่งลูกแน่”

       จุดหักเหชีวิตชาวนาของชัยพรเริ่มเมื่อปี 2533 เขาโละวิธีการทำนาตามแรงจูงใจของทุนนิยมที่ส่งเสริมให้ใช้สารเคมี เขาเดินนอกกรอบของชาวนาหว่านปุ๋ยเคมี แล้วหันมาใช้ “ระบบเกษตรอินทรีย์” ตามคำแนะนำของ “เดชา ศิริภัทร” จากมูลนิธิข้าวขวัญและผู้นำโรงเรียนชาวนา ซึ่งมาขอทดลองการทำนาด้วยสารอินทรีย์บนที่นา 5 ไร่ของพ่อ
 
     chia4 
       นับจากนั้นมา ชัยพรเก็บเกี่ยวข้าวได้เป็นกอบเป็นกำ ขายได้ราคาไม่เคยขาดทุน ชีวิตเริ่มมีอนาคตเพราะมีรายได้มากขึ้นถึงหลักล้านบาท เมื่อสิ้นฤดูการผลิตปี 2550 เขาขายข้าวได้ 2 ล้านบาทเศษ ในฤดูทำนาปี 2551 ขายได้อีกล้านกว่าบาท รายได้จากน้ำพักน้ำแรงเช่นนี้ เขาได้รับติดต่อกันมาหลายปีจนมีเงินสะสมเหลือใช้ มีฐานะมั่งคั่ง มั่นคง ใช้ชีวิตในวันว่างพาลูก ๆ ออกไปหาของกินอร่อย ๆ นอกบ้าน
 
      ชัยพร chia2สรุปฐานะอันมั่งคั่งและชีวิตเต็มไปด้วยความสุขว่า เกิดจากการทุ่มเททำนาโดยสุจริต ไม่เอาเปรียบดิน ไม่เอาเปรียบน้ำ คิดซื่อ ขยันขันแข็ง และมีสองมือหยาบกร้านจากทำงานหนักเช่นชาวนาทั่วๆไป เขาถอดชีวิตชาวนาย้อนหลัง เปรียบเทียบวิธีการทำนาเคมีกับนาอินทรีย์ ได้อย่างน่าสนใจว่า เบื้องหลังความสำเร็จในชีวิตนั้นมาจากการตัดสินใจใช้สมุนไพร “สะเดา”สู้กับเพลี้ย จนทำให้ได้ข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย
 
     “ในปี 2531 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอาละวาดหนัก แถวบ้านเราโดนกันหมด พอดีอาจารย์เดชา ศิริภัทร ทำเรื่องนาอินทรีย์และใช้สมุนไพร มาขอทำแปลงทดลองปลูกสมุนไพร พ่อก็แบ่งนาให้ 5 ไร่ ด้วยความเกรงใจ อาจารย์ก็เริ่มทดลองใช้สะเดาสู้กับเพลี้ย เครื่องไม้เครื่องมือเยอะ ผมก็ไปช่วยอาจารย์ฉีด ก็ฉีดไปยังงั้น เราไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ปรากฏว่าแปลงนาที่สารเคมีเสียหายหมด ส่วนแปลงนาที่ฉีดสะเดากลับไม่เป็นอะไร” 
 
     “ผมเริ่มจะเชื่อแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็มร้อย เลยเอามาทำในนาของผมเอง ซึ่งปีนั้นชาวนาโดนเพลี้ยกันเยอะมาก หน่วยปราบศัตรูพืชจังหวัด เขาเลยเอายาที่ผสมสารเคมีมาแจก ผมก็ลองเอามาใช้ โดยแบ่งว่าแปลงนานี้ฉีดสารเคมี แปลงนานี้ฉีดสะเดา ซึ่งผลก็ปรากฏออกมาว่า แปลงนาที่ฉีดสะเดาปลอดภัยดี เก็บเกี่ยวข้าวก็ดี แต่แปลงที่ฉีดสารเคมีตายหมด” 
 นับแต่นั้นมา พรชัยเชื่อวิถีทำนาอินทรีย์ด้วยสมุนไพรสนิท แล้วลงมือทดลองเอง เขาหักกิ่งก้านสะเดามาใส่ครกตำ  
 
     “ภรรยาก็บ่นว่าทำไปทำไมเสียเวลา แต่ผมรั้น คือยังไงก็ขอลองหน่อย ก็เอาไปฉีดแล้วข้าวก็ได้เกี่ยว ผลผลิตก็ออกมาดีเกินคาด ทีนี้ชาวบ้านก็แห่มาขอสูตรเอาไปทำบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครประสบผลสำเร็จ เพราะเขาใช้สมุนไพรคู่กับยาเคมี บางคนใช้เคมีจนเอาไม่อยู่แล้วถึงหันมาใช้สะเดา พอมันไม่ได้ผลทันตาเห็น ก็กลับไปใช้สารเคมีกันเหมือนเดิม” เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา กล่าว
         
      การคิดต้นทุนของเขา ลงทุนเต็มที่ตกไร่ละ 2,000 บาท ในขณะที่ขายได้เกวียนละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท หลังจากเขาทำนาอินทรีย์ได้เพียง 3 ปี มีเงินเหลือมากกว่า 6 ปี ที่หัวปักหัวปำกับปุ๋ยยาเคมี
     ในวันนี้ นอกจากชัยพรดำเนินชีวิตอยู่กับทุ่งนาตามปกติ แต่เขายังรับเชิญเป็นวิทยากรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปให้ความรู้กับชาวนาคนอื่นๆด้วย  เขาให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาและสนใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่มาขอคำปรึกษาแทบจะทุกวัน
 
          “ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก" ชัยพรยืนยันหนักแน่นซ้ำอีก สำคัญตรงที่ต้องทำนาแบบ “ใช้สมอง” ไม่ใช่ทำนาแบบเป็น “ผู้จัดการนา” สถานเดียว 
          "ถ้าเป็นผู้จัดการนาล่ะจนแน่ มีมือถือเครื่องเดียวโทรสั่งตามกระแส มีนาอย่างเดียวที่เหลือจ้างเขา เริ่มทำไร่หนึ่งก็ต้องมีพันกว่า ตั้งแต่ทำเทือก ทำดิน ไปยันหว่าน เฉพาะได้แค่ต้นนะ ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เกี่ยวไหม จากนั้นต้องฉีดยาคุมหญ้า ใส่ปุ๋ยอีกหลายพัน”
 
“ของเราต้นทุนไม่กี่สตางค์ อาศัยว่าต้องละเอียดอ่อน ต้องรักษาธรรมชาติ แล้วก็ต้องเป็นลูกจ้างตัวเอง ไม่ใช่ผู้จัดการ พอไปพูดกับเขา เขาก็บอกนาเขาน้อย แล้วก็เช่าเขา ทำอินทรีย์ไม่ได้หรอก ผมก็บอกว่าเมื่อก่อนผมก็เช่า ทำไมยังทำได้ ทำจนมีเงินซื้อนา เขาไม่คิดย้อนกลับไงว่า สมัยปู่ย่าตายายทำนา มันมียาที่ไหนล่ะ คนโบราณยังได้เกี่ยว ของเรายังดี มีสะเดาให้ฉีด สมัยโบราณมีที่ไหนล่ะ” 
 
         chia3 chia5
      “ไอ้บางคนเห็นข้าวเราเขียว ก็บอกว่าคงแอบใส่ปุ๋ยกลางคืนละมั้ง แหม๋! กลางวันยังไม่มีเวลาเลย จะมาใส่ปุ๋ยกลางคืน มาฉีดให้งูมันเอาตายเรอะ" ชัยพร กล่าว
ทุกครั้งที่ขายข้าวได้ เขาจะนึกถึงบุคคลที่นำเอาวิธีเกษตรอินทรีย์มาให้เขาได้รู้จัก และปรับใช้ในที่นาของเขา จนมีเงินเหลือเก็บ ... "ถ้าผมไม่ได้เจออาจารย์เดชาก็คงไม่ได้เกิดหรอก คงไม่ได้ส่งลูกเรียนปริญญาโท...ลูกมาทีเอาเงินค่าเทอมทีละ 40,000 – 50,000 บาท ก็ยังเฉย ๆ เรามีให้"
 
       ทุกวันนี้ ชัยพรยังทำนา พร้อมๆกับหาลู่ทางขยายที่นาออกไปให้มาก เขาบอกว่า “ทำไปเถอะ ทำไปเรื่อย ๆ ทำเพลิน ๆ ไม่ขาดทุนหรอก ทำนาน่ะ มีแต่กำไร บอกกับตัวเองว่าถ้าฤดูนี้ได้ร้อยกว่าเกวียนจะขอโบนัสทอง 10 บาท บอกอย่างนี้ก็เลยต้องขยันฉีดฮอร์โมน ทำดิน ทำจิปาถะ แล้วก็ได้”
       ชัยพร สามารถลบคำกล่าวที่ว่า "ทำนามีแต่จน" ได้สำเร็จ จนชีวิตมีสุขสามารถดำเนินชีวิตตามแบบวิถีสังคมสมัยใหม่ได้ไม่เดือดร้อน  แต่เบื้องหลังความสำเร็จ อยู่ที่ขยัน ประหยัด ลงมือปฏิบัติเอง และที่สำคัญคือ เชื่อมั่นในระบบทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี

เรียบเรียงข้อมูลจาก นิตยสาร ฅ.คน ฉบับตุลาคม 2552และคลิปรายการคนค้นคน-ชาวนาเงินล้าน จากยูทูป
..............................................................

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น