วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากเด็กจรจัดไร้บ้าน ต้องรับจ้างถูพื้นโรงเรียน สู่รั้วมหาวิทยาลัยชื่อก้องโลก "ฮาร์วาร์ด"


From Homeless to Harvard




ที่โรงเรียนเบิร์นส์ไฮสกูล ในเมืองลอนเดล รัฐนอร์ธแคโรไลน่า
สาวน้อยดอว์น ลอกกินส์ (Dawn Loggins) กำลังถูพื้นอย่างขมีขมัน เพื่อหารายได้จุนเจือการเรียน
…เธอเป็นนักเรียนเกียรตินิยม A รวดทุกวิชา
นอกเวลาเรียน ดอว์นต้องถูพื้นทั่วทั้งโรงเรียน ไม่เว้นแม้ห้องน้ำ
ก่อนหน้านี้ พ่อแม่เธอติดยา และได้หนีเธอไป ทอดทิ้งเธอให้ไร้บ้าน
ครูและชาวบ้านต้องบริจาคเสื้อผ้าและข้าวของจำเป็นให้เธอ
และหางานภารโรงที่โรงเรียนให้ เพื่อหารายได้
เธอถูพื้นทำความสะอาด อย่างไม่เคยบ่นรำพัน
ซาบซึ้งที่มีงานหารายได้เล็กๆ น้อยๆ มาประทังชีวิตได้
ดอว์นเติบโตมาอย่างยากจนข้นแค้น บ่อยครั้งที่ไม่มีน้ำไฟให้ใช้
ไม่มีแสงสว่างที่จะทำการบ้านอ่านหนังสือได้
จนครูในโรงเรียนต้องหาเทียนไขให้เธอใช้ในยามค่ำมืด
....ด้วยเทียนไขนี้ เธออ่านหนังสือทำการบ้านอย่างหมั่นเพียรไม่เคยย่อท้อ
....จนผลการเรียนดีเด่น ได้รับเลือกให้เข้าค่ายศึกษาวิทยาศาสตร์ร่วม 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนระดับยอดเยี่ยมของทั้งรัฐ


แต่ช่วงที่ที่เธอเข้าร่วมค่ายนี้เอง พอดีกับเป็นเวลาที่พ่อแม่ได้ทิ้งเธอไป
เธอกลับบ้านมาพบว่าไม่มีใครอยู่บ้าน แถมมีประกาศติดไล่ให้ออกจากบ้าน
.....ทำให้ดอว์นไร้บ้าน ขาดพ่อแม่
ภายหลังดอว์นได้ข่าวว่าพ่อแม่ย้ายหนีไปอยู่อีกรัฐหนึ่งเสียแล้ว
เธอบอกว่า "ไม่เคยนึกคิดว่า พ่อเลี้ยงกับแม่จะทิ้งหนีหนูไปได้ง่ายๆ อย่างนั้น
แต่หนูก็ไม่ได้นึกโกรธพ่อแม่นะ เขาคงคิดว่าได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้หนูแล้ว
ความจริงหนูก็รู้ว่า ทั้งพ่อกับแม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขให้ได้ด้วยตัวเอง
หนูรู้ว่าพ่อกับแม่รักหนู เพียงแต่แสดงออกเหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเขาทำกันไม่เป็นเท่านั้นเอง"


หลังจากนั้น เธอต้องระเหเร่ร่อน ไปนอนตามบ้านเพื่อน....บางครั้งก็ต้องนอนกับพื้นบ้าน


ในขณะนั้น เธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องมีผู้ปกครองดูแลจนกว่าอายุจะครบ 18 ปี
และเนื่องจากเธอเลือกที่จะไม่ตามไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างรัฐ
แต่เลือกที่จะอยู่กับเมืองนี้เพื่อเรียนหนังสือต่อไป
ทำให้ทั้งชุมชนและบรรดาครูโรงเรียน รับหน้าที่เป็นผู้ปกครองของเธอกันทั่วหน้า
และได้ขอให้คู่สามีภรรยาคนขับรถโรงเรียน ให้เธออาศัยพักที่บ้าน
โดยครูต่างสมทบค่าใช้จ่ายให้ทุกเดือน
ชีวิตเธอก็เริ่มเข้าที่เข้าทางโดยมีหลังคาคลุมหัว
และมีงานพิเศษทำ เพื่อให้เรียนหนังสือต่อไปได้


ย่างเข้าปีสุดท้ายในไฮสกูล เธอตัดสินใจเด็ดขาด
ที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
เธอเลือกที่จะเดินบนทาง ที่ต่างจากพ่อและแม่
"เมื่อเด็ก หนูได้มีโอกาสเห็นหนทางที่เลวร้ายทั้งหลายอยู่ต่อหน้า
ทั้งยาเสพติด ทั้งชีวิตที่เลือนลอย และสิ่งแย่ๆ อื่นๆ
แต่หนูตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะไม่เดินบนทางเหล่านั้นเด็ดขาด
หนูรู้ว่า ก า ร ศึ ก ษ า จะพาให้หนูพ้นจากวังวนเลวร้ายทั้งหลายได้
อาจมีคนมากมายที่โทษสิ่งแวดล้อมรอบตัว
แต่หนูใช้สถานการณ์แย่ๆ พวกนั้น มาเป็นพลังใจ ที่จะผลักดันให้หนูหลุดพ้นออกมาให้ได้"



นอกจากที่ตั้งใจเรียนดีแล้ว เธอยังเลือกทำกิจกรรมต่างๆ เป็นประธานชมรมถ่ายรูป
และริเริ่มทำโปรแกรมบริการสังคมเพื่อรวบรวมจดหมายเขียนให้กำลังใจทหารที่อยู่ประจำการในแนวรบ
พร้อมทั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรติยศแห่งชาติ และร่วมชมรมดุริยางค์
แล้วก่อนหน้านี้เธอยังวิ่งมาราธอนอีกด้วย


ในปีสุดท้ายในโรงเรียน เธอส่งใบสมัครเรียนไปมหาวิทยาลัยธรรมดา 4 แห่งภายในรัฐนอร์ธแคโรไลน่า และที่ ม.ฮาร์วาร์ด รวมเป็นแห่งที่ 5
....ที่โรงเรียนของเธอ ตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนมา ยังไม่เคยมีใครได้ไปเเรียนมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าสดุๆ ในอเมริกามาก่อนเลย
ดอว์นก็เลยตัดสินใจท้าทายความเชื่อ
โดยส่งใบสมัครไปที่สุดยอดมหาวิทยาลัยในฝัน คือที่ ฮาร์วาร์ด ด้วย


ครูแลรี่ การ์ดเนอร์ ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์
เป็นคนเขียนจดหมายรับรอง ประกอบการสมัครเรียนที่ฮาร์วาร์ด เขาเขียนในจดหมายว่า
"ข้าพเจ้าไม่ทราบจะหาสรรหาคำมาบรรยายในจดหมายรับรองนี้ได้อย่างไรให้ได้ดังใจคิด
ข้าพเจ้าไม่เคยเขียนจดหมายรับรองฉบับใดเหมือนฉบับนี้มาก่อนเลย
....และคงไม่ได้เขียนอย่างนี้เป็นฉบับที่สองอีกแน่นอน


นักเรียนส่วนมาก เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบาก แม้เพียงเศษเสี้ยวของที่ดอว์นต้องประสบมา ก็คงท้อถอยยอมแพ้ไม่เป็นท่า
แต่สาวน้อยผู้นี้ ที่แม้ต้องผ่านเหตุการณ์แสนสาหัส ต้องพบกับความหิวโซ ระเหเร่ร่อนไร้บ้านอยู่อาศัย และเผชิญความลำบากอีกนานัปการ
แต่เธอก็ลุกขึ้นยืนผงาดเหนืออุปสรรคชีวิตทั้งปวงนั้น
....ยืนตระหง่านเป็นสตรีสาวน้อย ที่โดดเด่นเหนือหมู่คน"



เหตุการณ์ในเดือนต่อๆ มาเธอได้รับตำตอบรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในรัฐนอร์ธแคโรไลน่าทั้ง 4 แห่ง
เป็นจดหมายตอบรับที่แนบมาพร้อมกับเอกสารมหาวิทยาลัยอีกปีกใหญ่ๆ ทั้งสิ้น


แต่เมื่อมีจดหมายจากฮาร์วาร์ด กลับเป็นจดหมายบางๆ เพียงฉบับเดียว ไม่มีเอกสารอื่นแนบมาด้วยเลย
ซึ่งเป็นลักษณะจดหมายตอบปฏิเสธที่นักเรียนไม่อยากได้รับกันเลย
เมื่อเปิดจดหมายออกอ่าน พบใจความว่า
"ถึงคุณดอว์น ลอกกินส์ ข้าพเจ้ามีความยินดีจะแจ้งให้ทราบว่า
คณะกรรมการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน ได้ให้ข้าพเจ้ามาแจ้งว่า ท่านได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของเราแล้ว....โดยปรกติทางมหาวิทยาลัยจะส่งสัญญาณมาบอกก่อนเวลาอันควรเช่นนี้ สำหรับนักเรียนที่โดดเด่นมากๆ เท่านั้น....”


นอกจากจะได้รับเลือกเข้าเรียนแล้ว....เธอยังได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีกด้วย


เมื่อเรื่องราวของเธอได้กลายเป็นข่าว "From Homeless to Harvard" เธอได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ WBTV ว่า
"เมื่อคุณมีความฝัน คุณสามารถบุกบั่นให้ฝันเป็นจริงได้ โดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น
มีแต่ตัวคุณเองเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่จะสร้างฝันของตัวคุณเองให้เป็นจริงขึ้นมาได้"


นับแต่ที่เรื่องราวของเธอกลายเป็นข่าว มีผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ
และได้ส่งกำลังใจมาให้เธอมากมาย มีผู้ส่งเงินสนับสนุนให้เธอมาด้วย
ดอว์นบอกว่า ไม่ได้ต้องการเงินเหล่านั้น
"เพราะเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย หนูได้ทุนค่าเล่าเรียน ค่าที่พักและอาหาร
ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าตำราเรียน หนูสามารถหางานพิเศษทำเพื่อหาเงินมาได้"

เธอตั้งความหวังไว้ว่า จะสามารถจัดตั้งองค์กรการกุศลที่จะช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นที่ประสบอุปสรรคขัดขวางการศึกษา โดยใช้เงินที่มีผู้บริจาคให้เธอมาเป็นทุนก่อตั้ง
"ยังมีเด็กอีกมากมายที่อนาคตยังมืดมน และพวกเขาต้องการความช่วยเหลือมากกว่าหนูอีก
หนูอยากให้พวกเขาได้ใช้เรื่องราวของหนูเป็นแรงจูงใจ และอยากให้ทำให้ผู้คนทั่วไปรับรู้ว่า
ยังมีเด็กจรจัดไร้บ้านที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกมาก"



เมื่อวันที่ 7 มิย.2012 ที่ผ่านมา เป็นวันพิธีจบการศึกษาของโรงเรียน ตอนที่สาวน้อย ดอว์นเดินขึ้นรับประกาศนียบัตร เพื่อนนักเรียนทั้งโรงเรียน ต่างได้ลุกขึ้นยืน ปรบมือดังกึกก้องโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อแสดงความชื่นชมและให้เกียรติอย่างสูง แก่สาวน้อย-ดอว์น ลอกกิ้นส์ ผู้เด็ดเดี่ยวที่ทอฝันให้เป็นจริง......
.....เราขอยืนขึ้นเพื่อปรบมือให้เธอ และขอส่งใจให้เธอจงสำเร็จสัมฤทธิ์ผล ในการสร้างสานฝัน ให้ตนเอง และให้โลกต่อไป....






(เรียบเรียงจากข่าว abc และ cnn โดย Hachapan Uachotikoon)

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จะรู้อย่างเป็นกลางได้อย่างไร?


จะรู้อย่างเป็นกลางได้อย่างไร?


         เป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าจะทำให้สติเจริญจริง รู้เห็นกายใจตามจริงได้ จิตต้องเป็นอุเบกขา หรือมีความเป็นกลาง ซึ่งความรู้สึกเป็นกลางนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้าง เป็นไปไม่ได้ที่จะฟังใครแล้วเข้าใจ แต่เป็นไปได้ที่จะฝึกตนเองตามลำดับขั้นเพื่อเข้าถึง ผ่านกรรมในชีวิตประจำวันดังนี้ครับ

๑) การตัดสินคนอื่น เมื่อเห็นเขาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เราชื่นชอบหรือเกลียดชัง ให้ฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย ระหว่างฟังให้สำรวจว่าเรามีหน้ากากแห่งความเกลียด หรือหน้ากากแห่งความชอบเข้ามาบดบังข้อมูลหรือไม่ ถ้าเห็นความเกลียดและความชอบเป็นแรงผลักดันให้เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็จะถอนอาการด่วนเชื่อหรือไม่เชื่อเสียได้ ความใจเย็นรับฟังที่เหลือหลังจากนั้น เรียกว่าเป็นกลางระหว่างสองฝ่าย สติและจิตที่ตั้งอยู่ตรงกลางจะทำให้เรารู้จักความเป็นกลางเบื้องต้นที่จัดว่าง่ายที่สุด

๒) การตัดสินตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่าตนเข้าข้างตัวเองขนาดไหน และบางทีก็ไม่สามารถใช้เสียงคนอื่นมาตัดสินด้วย เนื่องจากคนอื่นจะตัดสินว่าเราไม่เข้าข้างตัวเอง ก็ต่อเมื่อเราเข้าข้างเขา สิ่งที่จะช่วยให้เราตัดสินตัวเองได้ว่าเป็นกลางหรือเปล่าคือ "วิธีให้ความเป็นธรรม" กล่าวคือ เราเล็งเข้ามาที่ใจตัวเองว่าขณะพูดหรือขณะทำเพื่อเอาอะไรให้ตัวเอง เราคิดถึงคนอื่นบ้างหรือเปล่า หรือคิดถึงตัวเองคนเดียว ถ้ารู้ใจตัวเองว่าคิดถึงคนอื่นด้วย คิดถึงตัวเองด้วย ในระดับน้ำหนักที่ได้ดุล อันนั้นเรียกว่าเป็นกลาง แม้คนอื่นจะยังเรียกร้องขอเพิ่ม เราก็ถือว่าเราได้ให้ความเป็นธรรมกับเขาไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เพิ่มแล้ว

๓) การให้ทาน การเผื่อแผ่ไม่เลือกหน้า จะเฉลี่ยเอาความเลือกที่รักมักที่ชังในใจเราออกไป แล้วช่วยให้จิตแผ่ผายออกกว้างอย่างเป็นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเจาะจงจะให้เฉพาะคนที่เรารักหรือนึกชอบใจ หรือฟังใครต่อใครร่ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์ ถวายให้แล้วได้บุญเยอะ แบบนี้จะเป็นบุญในแบบที่ไม่ช่วยให้ใจเป็นกลางเท่าใดนัก

๔) การรักษาศีล การตั้งใจสกัดกั้นกิเลส ห้ามใจไม่ให้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดประเวณี โกหก และกินเหล้า โดยไม่มีข้อยกเว้น หรือมีข้ออ้างให้น้อย ยิ่งน้อยเท่าไรยิ่งเป็นกลางมากขึ้นเท่านั้น การรักษาศีลเป็นบุญที่ดัดจิตเราให้ตรง เห็นอะไรตรงตามจริงได้ขนาดที่ถ้าเต็มบริบูรณ์แล้ว ก็กลายเป็นสมาธิจิตได้เอง สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีปกติรักศีล มีศีลที่ตั้งมั่นแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนใจ และเป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่ายเป็นธรรมดา ไม่น่าแปลกใจ

๕) การเจริญสติ ถ้าเริ่มจับจุดจากที่ตัดสินได้ง่ายว่าเรารู้จริง ไม่ต้องสงสัยเคลือบแคลง ไม่ต้องถามตัวเองว่ารู้ถูกหรือรู้ผิด เอาตามลำดับที่พระพุทธเจ้าเรียงไว้ให้ ก็จะเป็นกลาง รู้เห็นตรงจริงได้ง่าย เช่น ขณะนี้หายใจเข้าหรือหายใจออก ขณะนี้หายใจยาวหรือหายใจสั้น ขณะนี้อึดอัดหรือสบาย ขณะนี้สงบหรือฟุ้งซ่าน ถ้ารู้จริง ไม่ได้อยู่ในจินตนาการ ย่อมไม่มีทางตัดสินได้ผิด


การอยู่กับการ "ไม่เอียงข้าง ไม่คลางแคลง" ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมได้ชื่อว่าสะสมความเป็นกลาง ดัดจิตจากบิดเบี้ยวให้เข้าสู่ความตรง ความเที่ยงที่จะรู้ตามจริง จะไม่เป็นคนเข้าข้างใครนอกจากธรรม จะไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว และที่สุดจะไม่เป็นคน "เห็นว่ามีตัว" ในเบื้องปลายครับ



ดังตฤณ