วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

21 กันยา วันสันติภาพ ( PIC OF PEACE )


21 กันยายน วันสันติภาพ ( PIC OF PEACE )


        หลายคนอาจสงสัยระคนคลางแคลงว่าแล้วสันติภาพที่แท้จริงนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก่อนจะมองหาหน้าตาของสันติภาพเราลองมาดูบางแง่มุมของสันติภาพที่เคยเกิดขึ้นบนโลกกันก่อนดีกว่า 






           สัญลักษณ์แห่งสันติภาพนั้นมีอยู่มากมายแต่ที่พบเห็นกันบ่อยๆก็คงเป็นรูปนกพิราบขาวซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งใน ศาสนาคริสต์ ศาสนายิวและศาสนาอิสลามด้วย ที่มาที่ไปของสัญลักษณ์นี้มาจากคัมภีร์พันธะสัญญาเดิม(Old Testament) ของศาสนาคริสต์,คัมภีร์โตราห์( Torah) ของศาสนายิว ,และคัมภีร์กุรอาน(Koran)ของศาสนาอิสลาม   ทั้งสามคัมภีร์กล่าวถึงนกพิราบที่โนอาห์(Noah)ปล่อยออกไปเพื่อหาพื้นแผ่นดินหลังเกิดน้ำท่วมโลก(The Great Flood) และในเวลาต่อมาเจ้านกพิราบได้บินกลับมาพร้อมกับกิ่งมะกอก(olive branch)เป็นการบอกกับโนอาห์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายและเริ่มมีแผ่นดินปรากฏสำหรับมวลมนุษย์แล้ว (Genesis 8:11)
นกพิราบจึงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง “ความหวังในสันติภาพ”



 


           คิดดูแล้วคงเป็นเรื่องยากที่คนทั่วๆไปอย่างเราๆจะไปสร้างความปรองดองระหว่างประเทศได้ เอาแค่ในประเทศไทยเราเองก็มีความขัดแย้งงอกเงยและลุกลามจนแทบจะห้ามจะปรามกันไม่ไหวแล้ว อันที่จริงไม่ต้องไปไกลถึงระดับสามจังหวัดชายแดนก็ได้ เอาแค่การระงับความขัดแย้งที่ดูเล็กน้อยใกล้ๆ
ตัวระหว่างเรากับเพื่อนฝูง เรากับแฟน นักเรียนกับอาจารย์ ฯลฯก็ยากเหมือนเข็นตู้เย็นขึ้นภูเขาแล้ว ทั้งที่หลายๆเรื่องก็ไม่ได้มีสาเหตุที่สลับซับซ้อนอะไรเลย
แล้วอะไรล่ะที่ทำให้มนุษย์บางกลุ่มก้อนสามารถสร้างสรรค์ความปรองดองที่ยิ่งใหญ่ในระดับชาติได้

           อังรี ดูนังต์ เป็นชื่อถนนในพื้นที่เขตปทุมวัน เป็นที่ถนนที่ตัดผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่งตั้งแต่สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และสยามสแควร์ แต่เดิมถนนสายนี้ ชื่อ ถนนสนามม้า (เนื่องจากผ่านสนามม้าปทุมวัน)มาเปลี่ยนชื่อเป็นถนนอังรี ดูนังต์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2508 ซึ่งตรงกับวันกาชาดสากล เนื่องจากสภากาชาดสากลได้เสนอให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกจัดทำอนุสรณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี กาชาดสากลและเพื่อการระลึก นาย ฌอง อังรี ดูนังต์ (Jean Henry Dunant, ค.ศ. 1828 - ค.ศ. 1910) ชาวสวิสผู้ก่อตั้งกิจการกาชาดสากลที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี(จากงานกาชาด)
           ทุกวันนี้กาชาดเป็นองค์กรอิสระที่ปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยากและเป็นองค์กรที่ปฏิบัติงานเพื่อเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันมีประเทศต่างๆจำนวนมากมายจากทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิกและสมาชิกเกือบทุกประเทศเหล่านี้ได้จัดตั้งสภากาชาดในประเทศของตนเองแล้ว  



           อังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นคนแรกของโลก ร่วมกับ Frédéric Passy นักต่อสู่เพื่อสันติภาพชาวฝรั่งเศส ในพ.ศ.2444 แม้ชีวิตของอังรี ดูนังต์ จะไม่ได้สวยหรู เนื่องจากเขาได้ทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการจัดตั้งสภากาชาดจนไม่ได้สนใจธุรกิจของตนเองเลย ทำให้ต้องใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอย่างลำบากยากแค้น  ทว่าจากผลงานที่กาชาดสากลได้ทำมาโดยตลอด สภากาชาดจึงองค์กรที่ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดโดยได้รับในสาขาสันติภาพถึงสามครั้งคือ ในปี พ.ศ. 2460,พ.ศ. 2487 และ พ.ศ. 2506 เรียกได้สภากาชาดเป็นผลงานที่ระดับโลก ที่อังรี ดูนังต์ ได้หว่านเมล็ดไว้จนเจริญงอกงามมาถึงทุกวันนี้
           แต่ใครจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นขององค์กรกาชาดนั้นเกิดจากความรู้สึกสะเทือนใจของอังรี ดูนังต์ ที่ได้ไปพบเห็นเหยื่อสงครามบนสมรภูมิรบในหมู่บ้านซอลเฟอริโน(Solferino) ประเทศอิตาลี สงครามครั้งนี้รุนแรงจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนกลาดโดยไม่มีใครให้การพยาบาลรักษา ภาพที่เห็นทำให้เขาลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง (ทั้งที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวเพื่อการณ์นี้มาก่อน)และขอให้ชาวบ้านละแวกนั้นให้ความช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นทหารของฝ่ายไหน ไม่เพียงแต่อังรี ดูนังต์ ที่จริงแล้วโลกเรามีผู้อุทิศตนเพื่อสันติภาพมากมายตั้งแต่


ไลนัส พอลลิง(Linus Carl Pauling) นักเคมีผู้อธิบายธรรมชาติของพันธะเคมีและโครงสร้างของโมเลกุล ซึ่งในภายหลังได้เป็นผู้ต่อต้านการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจัง 


ดอคเตอร์ มาติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์( Dr. Martin Luther King Jr.)ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เจ้าของสุนทรพจน์ “ I have a dream”ที่ยังดังก้องอยู่บนโลกถึงทุกวันนี้


เนลสัน แมนเดลลา (Nelson Mandela) นักต่อสู้เพื่อคนผิวดำแห่งแอฟริกาใต้จนถูกจำคุกนานถึง 27 ปี ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ของแอฟริกาใต้ 

 

ดอคเตอร์ วังการี มาไท (Dr. Wangari Muta Maathai) นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชาวเคนยา เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มGreen belt movement เพื่อรณรงค์ให้สตรี ปลูกต้นไม้กว่า 40 ล้านต้นทั่วเคนยาเพื่อพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์และคืนความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศน์ 


นางอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) สตรีผู้ยอมถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับประเทศพม่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกไปพบหน้าของลูกๆของเธอที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาร่วม20ปีแล้ว


           คนเหล่านี้ล้วนเป็นที่จดจำของโลก ใช่ว่าคนเราทุกคนจะสามารถทำอย่างนักสร้างสันติภาพของโลกเหล่านี้ได้ แต่อย่างน้อยเราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาเหล่านั้นได้ นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพเหล่านี้คงไม่มีทางสร้างสรรค์สันติภาพได้เลยหากปราศจากการสนับสนุนและถึงแม้จะมีการสร้างอนุสรณ์ให้กับเหล่าผู้อุทิศตนเพื่อสันติภาพของโลกมากสักเพียงใด ก็คงไม่เพียงพอจะกระตุ้นให้โลกเราปราศจากซึ่งความรุนแรงลงได้ง่ายๆแต่ก็คงดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

           ในปี พ.ศ. 2524   องค์การสหประชาชาติ (UN)  ได้ประกาศให้ วันที่21กันยายนของทุกปี เป็นวันสันติภาพโลก (International Day of Peace) ในวันนั้นระฆังแห่งสันติภาพจะดังขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาติ โดยตัวระฆังนี้ถูกหล่อขึ้นจากเหรียญกษาปณ์ที่ได้มาจากการบริจาคของเด็กๆทั่วทุกทวีปซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนบนโลก องค์การสหประชาชาติได้รับระฆังใบนี้ จากประเทศญี่ปุ่นอันเป็นการย้ำเตือนถึงเหล่าผู้คนที่ประสบความสูญเสียจากสงคราม โดยที่ด้านข้างของระฆังมีคำจารึกว่า: "Long live absolute world peace”


           ในวันที่วันที่ 21 กันยายนทางสหประชาชาติจึงขอให้ประชาชนในทุกประเทศยุติใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศสมาชิก , หน่วยงานสหประชาชาติ ,ชุมชนและองค์กรอิสระ ร่วมเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสันติภาพตลอดทั้งวัน ในวันนั้นใครทะเลาะกับใครอยู่ก็น่าจะเพลาๆลงเสียหน่อย(หยุดทะเลาะไปเลยได้ก็ยิ่งดี) เพราะแต่ละประเทศทั่วโลกให้ความร่วมมือในวันนี้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด อย่างในปี 2547 ที่ประเทศศรีลังกามีคนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์สันติภาพร่วมสามแสนคนทีเดียว
           ในประเทศไทยก็มีการจัดกิจกรรมต่างๆมาโดยตลอด ซึ่งหน่วยงานที่เป็นแกนนำหลักๆก็คงไม่พ้น สหพันธ์นานาชาติและศาสนาเพื่อสันติภาพโลก(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาและสันติ โดยในปีนี้กิจกรรมน่าสนใจอย่างค่ายอาสายุวศาสนิกสัมพันธ์ [RYS] ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 แล้ว กิจกรรมต่างๆในค่ายอาสายุวศาสนิกสัมพันธ์จะเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรม และศาสนา รวมทั้งพบปะเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและการร่วมทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยงานค่ายจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10 – 15 ตุลาคม 2551 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 


           ใครอายุอยู่ระหว่าง 17-25  ปี มีสุขภาพดีพอสามารถร่วมกิจกรรมได้ตลอดค่าย อยากชวนให้ลองสมัครและฟังรายละเอียดได้ที่ฝ่ายประสานงาน RYS Thailand โทร. 02-7187766 ต่อ 221, 230 หรือที่ E-mail: upfthailand@yahoo.com   เปิดรับสมัครตั้งแต่ตอนนี้  ถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 กิจกรรมนี้อาจทำให้หลายคนจะมองเห็นหน้าตาของสันติภาพชัดเจนยิ่งขึ้น



______________________________________________________

รางวัลอิกโนเบล(Ig Nobel)

           คราวนี้ลองมาดูอะไรที่ผ่อนคลายๆเพื่อสันติภาพกันบ้างรางวัลอิกโนเบล(Ig Nobel)เป็นรางวัลที่จัดล้อเลียนรางวัลโนเบลแบบเอาฮา แต่ถึงจะจัดล้อก็เป็นการล้ออย่างใหญ่โต ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลนี้หลายสาขาก็เป็นงานวิจัยที่จริงจัง ถึงแม้ผลงานที่ได้รับรางวัลแลดูแล้วจะให้ความรู้สึกขำๆจนถึงเพี้ยนๆเสียเป็นส่วนมาก แต่ก็เป็นเพราะทางผู้จัดต้องการให้รางวัลนี้ “ ทำให้ผู้คนหัวเราะก่อน แล้วค่อยเกิดความคิดในเวลาต่อมา” ("first make people laugh, and then make them think.") หลายๆครั้งรางวัลนี้จึงออกไปทางแนวเสียดสีและประชดประชัน แน่นอนว่าเมื่อจัดล้อรางวัลโนเบล รางวัลอิกโนเบลสาขาสันติภาพก็ต้องมีกับเขาด้วย จึงขอคัดมาเป็นตัวอย่างบางส่วนที่น่าสนุกและแสบคัน

           ในปีค.ศ.1996 มอบให้กับJacques Chirac ประธานธิบดีแห่งฝรั่งเศสที่ตำรงตำแหน่งในขณะนั้น สำหรับผลงานการไว้อาลัย  “ครบรอบ 50 ปีให้กับเมืองฮิโรโรชิมา” ซึ่งการไว้อาลัยที่ว่า คือการทดสอบระเบิดปรมาณูบริเวณหมู่เกาะทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค! (ดันมาทดสอบช่วงนี้พอดี)

           ในปีค.ศ. 1997   มอบให้กับ Harold Hillman แห่ง University of Surrey ในประเทศอังกฤษสำหรับรายงานเรื่อง “ ความเจ็บปวดที่สามารถประสบได้ระหว่างการประหารชีวิตด้วยวิธีต่างๆ” ("The Possible Pain Experienced During Execution by Different Methods.") (อ่านแล้วคงกลัวจนไม่กล้าทำผิด จนเกิดสันติภาพตามมา)

           ในปีค.ศ.2002 มอบให้กับ Keita Sato President บริษัท Takara , Dr. Matsumi Suzuki President ของ Japan Acoustic Lab, and Dr. Norio Kogure สำหรับการขยับขยายสันติภาพและสร้างความกลมกลืนระหว่างสปีชีส์ด้วยการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Bow-Lingual คอมพิวเตอร์อัตโนมัติในการแปลภาษาท่าทางของสุนัขเป็นภาษาคน  (อันนี้ออกแนวน่ารักแฮะ...ว่าแต่มันแปลได้จริงเหรอเนี่ย)




           ในปีค.ศ.2004 มอบให้กับ Daisuke Inoue แห่งประเทศญี่ปุ่น ผู้คิดค้นคาราโอเกะ เครื่องมือที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้และรู้จักอดทนต่อ(น้ำเสียง)ผู้อื่น (ทนกับพวกไม่รู้จักปล่อยวาง(ไมค์)
           และขอส่งท้ายกันด้วยรางวัลอิกโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบเป็นแรกในปีค.ศ.1991 ให้ Edward Teller บิดาแห่งระเบิดไฮโดรเจน (hydrogen bomb) หนึ่งในแกนนำผู้ผลักดันให้สหรัฐฯทำการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนได้เป็นผลสำเร็จ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้พยายามทำให้ความหมายของคำว่าสันติภาพที่เรารู้จักกันดีเปลี่ยนแปลงไป(ในทางมิชอบ)


           การสร้างสันติภาพอาจไม่ได้กระตุ้นจินตนาการอย่างการคิดค้นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม และอาจไม่ได้นำมาซึ่งเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆแก่มวลมนุษย์
           บางทีสิ่งที่สันติภาพสร้างสรรค์นั้นอาจมองไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน จนหน้าตาของสันติภาพมองเห็นได้ยากไปด้วยแต่คงไม่ใช่ปัญหาถ้าเราทุกคนต้องการจะเห็นมันเกิดขึ้น


ขอขอบคุณ
http://guideubon.com/news/view.php?t=77&s_id=151&d_id=151
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News&file=print&sid=2407
http://www.quotationspage.com/quote/27184.html
time 2002  best inventions
www.mazinsweiss.com/The_Creation.html
http://en.wikipedia.org/wiki/BowLingual
www.thailandpost.co.th/


ที่มา  อาจวรงค์ จันทมาศ(2008)

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น