วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ADELE: Someone Like You 'ฉบับกายวิภาคศาสตร์

Someone Like You "ฉบับกายวิภาคศาสตร์"
เหตุใดเพลงเศร้าเคล้าน้ำตาของ"อะเดล"จึงดังนัก?
 


 

เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา "อะเดล" นักร้องสาวชาวอังกฤษ สามารถกวาดรางวัลแกรมมี่ รางวัลด้านอุตสาหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของโลกไปครองได้สำเร็จ ซึ่งรวมถึงสาขาใหญ่ที่เป็นไฮไลท์ของงาน อาทิ อัลบั้มแห่งปี, แผ่นเสียงแห่งปี และเพลงแห่งปี ขณะที่เพลง "Someone Like You" เพลงบัดลาดสุดซาบซึ้งของเธอก็สามารถทำให้เธอคว้ารางวัลในสาขาศิลปินเพลงป๊อปยอดเยี่ยมได้สำเร็จ 



ภาพ: The Wall Street Journal/Associated Press
----------------------------


หลายคนที่เคยฟังเพลงนี้มาแล้ว อาจเคลิบเคลิ้มกระทั่งต้องเสียน้ำตาให้ไปกับมันทุกครั้งที่ฟัง แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เพลงช้าธรรมดาๆเพลงนี้ มี "มนตรา" ได้ถึงขั้นนี้? 


แม้ว่าผู้ฟังหลายคนจะมีประสบการณ์ส่วนตัวและวัฒนธรรมในการฟังเพลงที่แตกต่างกัน แต่นักวิจัยพบว่าโครงสร้างหลักของเพลง มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งต่อการสร้างการมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงในผู้ฟัง ประกอบกับเนื้อร้องที่กระแทกใจ และน้ำเสียงอันทรงพลังของศิลปินแต่ละคน โครงสร้างเหล่านี้จะส่งสัญญาณในด้านบวกไปยังสมอง และเปลี่ยนเป็นความปิติยินดี 


เมื่อกว่า 20 ปีก่อน นพ.จอห์น สโลโบด้า นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ได้ทำการทดลองชิ้นหนึ่งขึ้น โดยร้องขอให้กลุ่มคนฟังเพลงร่วมทำการพิสูจน์ "ข้อความ" จากเสียงเพลง ที่มีผลต่อปฏิกิริยาทางจิต อาทิ อาการน้ำตาไหล หรือขนลุก โดยให้คนเหล่านั้นฟังเพลงจำนวน 20 เพลง ผลทดลองที่ได้พบว่า มีเพลงถึง 18 เพลง ที่ซ่อน "สาร" บางอย่างเอาไว้ที่เรียกว่า "อาโปเจียตูร่า" (appoggiatura) 




"อาโปเจียตูร่า" คือการประดับประดาทางดนตรี มาจากคำอิตาเลียนว่า appoggiare แปลว่า "ต้องการโน้ตอื่น" ซึ่งเป็นโน้ตเสียงใกล้ตัว ที่มาเพิ่มให้เกิดความไพเราะขึ้น ซึ่งก็คือตัวโน้ตซึ่งมาตั้งค้างอยู่เหนือหรือใต้ตัวโน้ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอร์ดเฉพาะ 1 ขั้น เพื่อให้คอร์ดนั้นกระด้างขึ้น ซึ่งดร.มาร์ติน กูห์น นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริทิช โคลัมเบีย ซึ่งศึกษาเรื่องดังกล่าวระบุว่า มันจะช่วยให้เกิดความเครียดทางจิตใจแก่ผู้ฟัง และเมื่อโน้ตตัวดังกล่าวกลับมาสู่ในระดับปกติ ความตึงเครียดก็จะคลี่คลายลง และทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้น 

"ความชิล" ของเพลงส่วนใหญ่ มักเกิดจากการ "บิด" โน้ตก่อนเข้าโน้ตจริง และเมื่อ "อาโปเจียตูร่า" เกิดขึ้นสลับกันไปในท่อนอื่นๆของเพลง มันก็จะก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นเป็นวงจรอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ฟัง และแม้แต่สร้างปฏิกิริยาตอบโต้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งผู้ฟังน้ำตาไหล 

ดร.มาร์ติน กูห์นยังกล่าวว่า เพลง "Someone Like You" ซึ่งอะเดล แต่งร่วมกับแดน วิลสัน เต็มไปด้วยเทคนิคทางดนตรีที่คล้ายคลึงกับ "อาโปเจียตูร่า" จำนวนมาก และในระหว่างท่อนคอรัส อะเดลได้เปลี่ยนระดับความสูงต่ำของเสียงร้องลงเล็กน้อย ก่อนที่จะขึ้นท่อนเพลงใหม่ ซึ่งถือเป็นการสร้าง "ความโลดโผน" ทางดนตรีในระดับย่อมๆ แก่ผู้ฟัง 

เพื่อเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสูตรการแต่งเพลงเพื่อ "เรียกน้ำตา" ดร.กูห์น ยังยกเอาท่อนหนึ่งของเพลง "Trio for Piano" ของ "เฟลิกซ์ เมนเดลโซห์น" นักเปียโน นักคีตกวี และผู้อำนวยเพลงชาวเยอรมัน และเพลง "Adagio for Strings" ของ "แซมมวล บาร์เบอร์" นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมให้แก่ผู้ฟัง และทำการวัดผลปฏิกิริยาด้านจิตวิทยาในผู้ฟัง 



ผลการศึกษาพบว่า ทั้งสองเพลงมีสิ่งที่เหมือนกันคือการสร้างอารมณ์ "ขนลุก" ให้แก่ผู้ฟัง และมีโครงสร้างที่เหมือนกันถึง 4 จุด เพลงเริ่มจากเสียงดนตรีที่อ่อนหวาน ก่อนที่จะหนักในทันทีทันใด ทั้งสองเพลงยังมีช่วงของเพลงที่เกิดเสียงแบบใหม่ขึ้นอย่างทันทีในระหว่างเพลงอีกด้วย ซึ่งคล้ายกับ "อาโปเจียตูร่า" อย่างยิ่ง 

เช่นเดียวกับเพลง "Someone Like You" ซึ่งเริ่มต้นด้วยท่อนที่นุ่มนวลอ่อนหวาน ขณะที่อะเดลยังคงรักษาระดับโน้ตให้อยู่ภายในช่วงความถี่ของเสียงให้อยู่ในระดับแคบๆ ในเนื้อเพลงท่อนหนึ่ง ที่แสดงความโหยหา ทว่าแฝงไว้ด้วยความพยายามข่มอารมณ์ ที่ร้องว่า "I heard that you′re settled down, that you found a girl and you′re married now" ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์อ่อนไหวและตกอยู่ในภาวะเศร้าโศก 

ขณะที่ในท่อนคอรัส เสียงของอะเดลกลับเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งออคเทฟ และเปล่งเสียงโน้ตโดยใช้ระดับเสียงที่ดังขึ้น ทว่าเกิดความกลมกลืน ยิ่งเป็นตัวขับให้เนื้อเพลงมีความเร้าอารมณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในท่อน "Sometimes it lasts in love, but sometimes it hurts instead" 


เมื่อดนตรีถูกทำให้พลิกแพลงไปจากรูปแบบเดิมๆที่เคยฟัง ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับ "ความเห็นอกเห็นใจ" ของคนเราจะตื่นตัวขึ้นสูงกว่าปกติ หัวใจเต้นแรงขึ้น และเริ่มมีเหงื่อออก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมของผู้ฟังแต่ละคน เราสามารถตีความภาวะความเร้าอารมณ์ได้ทั้งทางบวกและลบ หรือทั้งสุขและเศร้า 

และหากว่าเพลงนี้สร้างความโศกเศร้าอย่างถึงที่สุดให้แก่ผู้ฟัง เหตุใดมันจึงยังได้รับความนิยม เมื่อปีก่อน ดร.โรเบิร์ต ซาทอร์เร นักประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมคกิล ได้ทำการศึกษาและพบว่า เพลงที่ปล่อยพลังด้านอารมณ์อย่างสูงสุด จะก่อให้เกิดการหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นในร่างกายและในสมอง ที่ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารที่สร้างความสุขและหล่อเลี้ยงสมอง เช่นเดียวกับผลที่ได้กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การมีเซ็กซ์ หรือการเสพยา สารดังกล่าวจะทำให้คนเรามีความสุข และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำพฤติกรรมแบบซ้ำๆ 

การวัดผลการตอบสนองของผู้ฟังพบว่า จำนวนผู้ฟังที่เกิดอาการ "ขนลุก" มีส่วนสัมพันธ์ร่วมกับปริมาณสารโดพามีนที่มีการหลั่งออกมา แม้แต่เพลงที่ "เศร้าสุดๆ" ก็ตาม ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ยิ่งเพลงสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้ฟังมากเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นเพลงเศร้าที่เพลงที่สนุกสนาน ยื่งกลับทำให้ผู้ฟังกระหายที่จะฟังเพลงมากขึ้นเท่านั้น 

เฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของเพลง "Someone Like You" อะเดล และแดน วิลสัน ไม่เพียงแต่สร้างเพลงเรียกน้ำตาที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังผลิตผลงานเพลงที่เดินตามสูตรเพลงฮิตที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างไม่มีผิดเพี้ยน และไม่ว่าต่อไปจะเป็นเช่นใด แต่ชื่อของอะเดลก็ได้กลายเป็นแบรนด์ที่รับประกันถึงการผสมผสานระหว่างการทำงานด้านเพลงที่มีคุณภาพและการร้องอันทรงพลังของนักร้องสาวร่างท้วมชาวอังกฤษได้เป็นอย่างดี 




วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 
By : matichon.co.th 

1 ความคิดเห็น :